Article
‘ปราบโกง’ อย่างไร ให้ กทม. เจริญขึ้น สูงขึ้น
โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล โพสเมื่อ May 19,2022

‘ปราบโกง’ อย่างไร ให้ กทม. เจริญขึ้น สูงขึ้น
คอร์รัปชันใน กทม. ถ้าเกิดขึ้นในระดับ ‘เขต’ มักเป็นเรื่องรีดไถ ส่วย สินบน ถ้าเป็น ‘ส่วนกลาง’ ปัญหาใหญ่คือเรื่องโกงกินในการจัดซื้อจัดจ้าง และถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูง จะเกิดคอร์รัปชันที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบวงกว้าง คือ คอร์รัปชันเชิงนโยบาย การเอื้อประโยชน์พวกพ้อง การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมและการรับส่วยจากผู้ใต้บังคับบัญชา
การเอาชนะคอร์รัปชันที่ซับซ้อนของ กทม. จะสำเร็จได้ ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องลงมือแก้ไขอย่างเข้าใจและจริงจัง ด้วยมาตรการที่หลากหลาย อาทิ
1. หยุดกลโกง ‘งบประมาณ’
เพื่อให้มั่นใจว่า เงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ถูกใช้ไปอย่างถูกต้อง คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ
1.1 สร้างระบบรวมศูนย์ข้อมูล งบประมาณ การลงทุน ค่าใช้จ่ายของ กทม. โดยยึดหลักรัฐบาลดิจิตอลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนตลอดเวลา เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้วิเคราะห์ผลการดำเนินงานและวางแผนในอนาคตโดยหน่วยงานที่เป็นอิสระ
1.2 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบการพัฒนาเมืองร่วมกับผู้บริหาร กทม. ผ่านการจัดทำงบประมาณและนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม
1.3 ทุกการใช้จ่ายและการลงทุน ต้องเปิดเผย ตรงไปตรงมา ผู้บริหารต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านงบประมาณและการจัดซื้อฯ ของกระทรวงการคลังโดยไม่บิดพลิ้ว
2. หยุดส่วยสินบน
การบริการประชาชนต้องง่าย สะดวก รวดเร็ว ให้สมกับโลกยุคดิจิตอล และถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดให้ประชาชนประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่
ปัจจุบัน กทม. มีอำนาจในการออกใบอนุญาตอนุมัติทั้งหมด 221 รายการ แบ่งเป็น 183 รายการที่ถ่ายโอนภาระกิจจากหน่วยงานอื่น อีก 38 รายการเป็นภาระกิจตามกฎหมาย กทม. เอง
2.1 ปรับปรุงการบริการและกระบวนการออกใบอนุญาตอนุมัติให้ทันสมัย ตามแนวทาง พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกฯ มติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง และข้อเสนอแนะของ กพร. เช่น
ก. ยกเลิก ใบอนุญาตอนุมัติหรือกฎระเบียบอะไรที่หมดความจำเป็นแล้ว
ข. เปิดให้ประชาชนยื่นเรื่องใช้บริการได้ทั้งที่หน่วยงานของ กทม. หรือ ศูนย์ One stop service ของ กพร. หรือ หากไม่ติดขัดข้อกฎหมายจะไปยื่นที่หน่วยงานต้นเรื่องที่ถ่ายโอนภาระกิจมาก็ได้ กล่าวคือ ไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ที่สะดวก ไม่ถูกรีดไถ กลั่นแกล้ง
ค. สร้างระบบการให้บริการผ่านมือถือ พัฒนาระบบ Digital Document ให้ประชาชนยื่นเรื่องและรับเอกสารราชการทางอินเตอร์เน็ตหรือไปรษณีย์ได้ตามแต่กรณี
ง. ทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับประชาชนและเจ้าหน้าที่ ด้วยแนวทาง Single license - Single submission เช่น ใครเปิดร้านค้าหรือสร้างบ้าน ก็ยื่นเรื่องครั้งเดียวที่เดียว แล้วเป็นหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่ต้องสร้างระบบดึงและกระจายข้อมูลกันเอง หรือออกแบบระบบ Super license ใบเดียวใช้งานได้ครอบคลุม
2.2 เปิดแอพพลิเคชั่นให้ประชาชนประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ (Citizen Feedback) หลังใช้บริการแล้ว
2.3 ผู้ว่า กทม. และผู้บริหาร ต้องเป็นผู้นำที่ดีให้ผู้ใต้บังคับบัญชามั่นใจ สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ว่าจากนี้ไปไม่ต้องส่งส่วย ไม่ต้องวิ่งเต้น ไม่ต้องคอยดูแลนายในเรื่องส่วนตัว คนทำงานจะได้ไม่ต้องดิ้นรนสะสมความร่ำรวยเผื่อใคร
3. การจัดซื้อจัดจ้าง
หลีกเลี่ยงการใช้วิธีพิเศษ เขียนทีโออาร์ให้สมบูรณ์ วางเงื่อนไขโครงการที่เปิดให้เอกชนเข้าแข่งขันประมูลงานให้มากที่สุด เมกะโปรเจคต้องใช้มาตรการข้อตกลงคุณธรรมและในการประมูลทุกครั้งให้ผู้บริหารตรวจสอบข้อมูลจากระบบ ACT ai ว่ามีการฮั้วหรือล็อคสเปกเกิดขึ้นหรือไม่
4. การบริหารจัดการ
กทม. เป็นมหานครที่ต้องบริหารจัดการได้คล่องตัว ยืดหยุ่นแต่เข้มงวดรัดกุม มีมาตรฐานธรรมาภิบาลและการตรวจสอบไม่ด้อยไปกว่า “รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบผลงานและการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชา ตาม “มาตรการป้องกันคอร์รัปชันในระบบราชการ” ของรัฐ
5. การดำเนินงานเชิงพาณิชย์
เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสต่อสาธารณชน กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าร่วมแข่งขันให้มาก กิจการของกรุงเทพธนาคมต้องไม่ตัดตอนความรับผิดชอบของผู้ว่า กทม. ประสิทธิภาพการดำเนินงานต้องเทียบเคียงกับกิจการของเอกชนได้ เชิญชวนผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมวิชาชีพและองค์กรภาคประชาชนมาเป็นกรรมการและที่ปรึกษา เช่น สภาองค์กรผู้บริโภค องค์กรวิชาชีพทางบัญชี วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น
6. โรงเรียนของชุมชน
ใช้โซเชี่ยลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสาร ให้นักเรียน/ผู้ปกครอง/ชุมชน ร่วมรับรู้ แสดงความคิดเห็น - เสนอแนะในกิจการโรงเรียน
